[Thai Book Review] วิธีบริหารเงิน จากหนังสือ “โอ๊ย ช่วยด้วย เมื่อไหร่จะรวยสักที”

วันนี้ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการบริหารการเงินในครอบครัวที่มีประโยชน์มาก เลยสรุปมาเป็นทวีตใน Twitter.com/woraperth มาให้ครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจอยากศึกษาวิธีการบริหารเงินของตัวเอง

รายละเอียดหนังสือ


หนังสือ โอ๊ย ช่วยด้วย เมื่อไหร่จะรวยสักที ความรู้เรื่องการเงินที่ไม่มีใครบอกคุณ
เขียนโดย : อุดะ ฮิโรเอะ
แปลและเรียบเรียงโดย : ชลิตา ขวัญสิริกุล

สรุปข้อคิดดี ๆ จากหนังสือ

เรื่องการควบคุมรายรับ รายจ่าย

  • ไม่ว่าเราจะมีรายได้น้อยหรือเยอะขนาดไหน เงินเราจะหมดโดยไม่รู้ตัว ก็ต่อเมื่อเรามี “รายจ่าย” ที่มากกว่า “รายรับ” เพราะฉะนั้นควรทำบัญชีครัวเรือนทุกเดือน
  • บัญชีรายรับรายจ่าย ทำแค่เดือนละครั้งก็ได้ โดยเก็บบิลที่ได้มาไว้ทั้งหมดแยกตามหมวดหมู่ไว้ เช่น ค่าบ้าน ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ฯลฯ ตอนสรุปบัญชีปลายเดือนจะได้เช็คง่าย ๆ ว่าอะไรเท่าไหร่บ้าง
  • วิธีออมเงินที่ถูกต้อง ไม่ใช่การทำบัญชีว่ารายจ่ายเท่าไหร่ในชีวิตประจำวัน แล้วเหลือเก็บเท่าไหร่ แต่จริง ๆ คือการนำเงินที่เป็นรายรับไปเก็บเข้าธนาคารส่วนหนึ่งก่อน แล้วเงินที่เหลือค่อยเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน
  • อย่าดึงเงินที่จะเก็บเข้าธนาคารออกมาเป็นจำนวนเงินตายตัว (เช่น เดือนละ 20,000 บาท) ให้เก็บเป็น % แทน เช่น 20% ของรายได้จะเข้าธนาคาร
  • อย่าดึงเงินที่จะเก็บเข้าธนาคารออกมาเป็นจำนวนเงินตายตัว (เช่น เดือนละ 20,000 บาท) เพราะจะทำให้เดือนไหนรายได้น้อยเราจะอดอยาก ให้เก็บเป็น % แทน เช่น 20% ของรายได้จะเข้าธนาคาร
  • วิธีเริ่มประหยัดแบบง่ายที่สุด คือ ลดค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องจ่ายทุกเดือน เช่น ค่าโปรมือถือ ค่าเคเบิ้ลทีวี ค่าอินเตอร์เน็ต ลองดูว่าตามการใช้งานของเราสามารถลดไปโปรต่ำกว่าแทนได้มั้ย อาจจะลดได้เป็นพันบาทต่อเดือนเลย
  • การบริหารเงินก็เหมือนการอาบน้ำ น้ำที่เรามีคือรายได้ต่อเดือน (ถ้าเป็นฟรีแลนซ์ก็อาจจะมีน้ำเข้าไม่แน่นอน) ส่วนเวลาตักน้ำอาบคือค่าใช้จ่ายที่ไม่ประจำต่อเดือน เช่น ซื้อกระเป๋าใหม่ และน้ำที่รั่วออกคือค่าใช้จ่ายประจำ ยิ่งมีเยอะยิ่งมีน้ำรั่วออกมาเยอะเท่ากันตลอด

วิธีการเลือกกู้เงินเพื่อซื้อของระยะยาว เช่น กู้ซื้อบ้าน กู้ซื้อรถ

  • เวลากู้ซื้อของระยะยาว ดอกเบี้ยเล็ก ๆ แค่ 3% แต่ถ้ายิ่งผ่อนยาว ก็ยิ่งทำให้ดอกเบี้ยก้อนใหญ่มากเกินไปได้ เช่น กู้ 3 ล้านบาท ผ่อน 20 ปี 3% จ่ายทั้งหมด 3.9 ล้านบาท แต่ถ้าผ่อน 30 ปี ต้องจ่าย 4.8 ล้านบาท
  • เวลากู้ระยะยาว (เช่น ซื้อบ้าน) มีดอกเบี้ย 2 แบบ คือ
    • 1) ดอกเบี้ยลอยตัว ที่จะปรับขึ้นลงตามระยะเวลาแล้วแต่ตลาด เหมาะกับคนที่รายได้น้อยกว่าเงินกู้ และกู้ระยะยาว
    • 2) ดอกเบี้ยคงที่ คือไม่เปลี่ยนจนหมดสัญญา เหมาะกับคนที่รายได้สูงกว่าเงินกู้ และกู้ระยะสั้น
  • ทางออกหนึ่งในการเลือกประเภทดอกเบี้ย คือ กู้ 50% เป็นดอกเบี้ยลอยตัว อีก 50% เป็นดอกเบี้ยคงที่ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรกู้ 100% เป็นดอกเบี้ยลอยตัวที่เด็ดขาด ถึงจะเปลี่ยนเป็นดอกเบี้ยคงที่ได้ทีหลัง แต่ตอนนั้นดอกเบี้ยคงที่ก็สูงขึ้นไปแล้ว
  • วิธีหนึ่งในการลดหนี้ คือ รีไฟแนนซ์ เป็นการเอาเงินก้อนที่เหลือไปกู้กับสถาบันการเงินอื่นที่ดอกเบี้ยถูกกว่าแทน แต่เราต้องลองคำนวณเงินที่ลดลง – ค่ารีไฟแนนซ์ ด้วย ว่าโอเคมั้ย และอาจจะมีข้อจำกัดอื่น ๆ เช่น ต้องเหลือหนี้มากกว่า 10 ปี
  • อีกวิธีในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ คือ “การโปะ” เพราะเวลาเราเอาเงินก้อนไปโปะเงินกู้ จะทำให้เราไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในส่วนนั้นที่จริง ๆ เราต้องจ่าย แต่ไม่ควรโปะด้วยเงินทั้งหมดที่มี ควรทำช่วงที่ดอกเบี้ยขึ้น หรืออย่างน้อยควรเก็บไว้ใช้ส่วนตัวบ้างยามฉุกเฉิน
  • 4 เรื่องที่ต้องตรวจสอบก่อนกู้ซื้อบ้าน ควรตอบว่า “ใช่” เกิน 2 ข้อ
    • 1) ผ่อนชำระหมดก่อนอายุ 65 มั้ย
    • 2) ยอดเงินกู้รวมน้อยกว่ารายรับทั้งปี 5 ปีมั้ย
    • 3) วางแผนการซื้อโดยเผื่อดอกเบี้ยลอยตัวที่มีโอกาสขึ้นสูง
    • 4) หลังจากซื้อแล้วยังเหลือเงินเก็บ
  • วิธีผ่อนชำระเงินกู้ บางที่เราเลือกได้ว่าจะผ่อนแบบ
    • 1) เฉลี่ยเงินต้น จ่ายเงินต้นเท่ากันทุกเดือน ค่างวดปีแรก ๆ ก็จะแพงหน่อย แต่โดยรวมแล้วถูกกว่าแบบ
    • 2) เฉลี่ยทั้งต้นทั้งดอก ที่จ่ายค่างวดเท่ากันทุกเดือน แต่เงินต้นลดลงช้ากว่า
  • ปัญหาโลกแตกนึงคือเลือกว่าจะ “เช่า” หรือ “ซื้อ” อสังหาฯ ดี วิธีง่าย ๆ คือเราต้องคำนวณว่าถ้าให้เช่าหรือขายไปจะยังมีกำไรมั้ย โดยลองประเมินค่าเช่ารายเดือนถ้าอยู่ที่ที่นั้น ว่าเกิน 200 เท่าของราคาขายมั้ย ถ้าเกินแปลว่าอสังหาฯนี้ดี ทำกำไรได้ในอนาคตมากกว่าค่าเฉลี่ย
  • เงินที่เราใช้ในชีวิตประจำวันแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ
    • 1) ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย = มูลค่าที่ได้มาน้อยกว่าที่จ่ายไป
    • 2) ค่ากินอยู่ = มูลค่าที่ได้มาเท่าที่จ่ายไป
    • 3) เงินลงทุน = มูลค่าที่ได้มามากกว่าที่จ่ายไป
    • เพราะฉะนั้นวิธีง่าย ๆ ในการหาเงิน คือ ลด 1 แล้วเพิ่ม 3
  • 3 วิธีง่าย ๆ ที่จะทำให้มีเงินใช้ไม่ขาดมือ
    • 1) ศึกษาเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ หรือหนังสือ
    • 2) นำสิ่งที่เรียนรู้ไปลองปฏิบัติ
    • 3) สังเกตว่าทำแล้วเรามีเงินเยอะขึ้นมั้ย แล้วก็ย้อนกลับไปข้อ 1

การทำประกันดียังไง ทำไมต้องทำ แล้วเลือกประกันดี ๆ ยังไง

  • วิธีลดความกังวลในเรื่องเงิน คือ ลดความเสี่ยงในชีวิต เพราะจะทำให้เราไม่เจอปัญหาค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกระทันหัน เช่น การทำประกัน
  • วิธีเลือกประกันง่าย ๆ คือ
    • 1) เลือกตัวที่ให้เงินจำนวนที่เราพอใจหากเกิดอะไรขึ้น เช่น เข้า รพ วันละ 5,000 บาท
    • 2) เลือกตัวที่เงินประกันและดอกเบี้ยเหมาะสม บางตัวจ่ายแค่ 30 ปี บางตัวต้องจ่ายตลอดชีพ บางตัวคุ้มครองแค่ถึงอายุ 40 ปี บางตัวคุ้มครองตลอดชีวิต ฯลฯ
  • ค่าทำประกันขึ้นอยู่กับช่วงอายุและเพศที่ทำด้วย เพราะอัตราการเสียชีวิตของแต่ละเพศในแต่ละช่วงอายุไม่เท่ากัน ต้องระวังเวลาซื้อเพราะบางประกันค่าเบี้ยเพิ่มขึ้นตามอายุด้วย หรือบางประกันคุ้มครองแค่จนถึงอายุไม่เยอะ
  • ประโยชน์ของการใช้ประกันชีวิต คือ เป็นการรับรองว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น ครอบครัวที่อยู่ข้างหลังจะมีเงินพอใช้จ่ายตามระยะเวลาที่ต้องจ่าย เช่น ถ้าเราเข้า รพ ควรมีประกันที่จ่ายเงินให้ครอบครัวอยู่ได้โดยไม่ขาดรายได้จากเรา หรือลูกยังมีค่าเรียนจนจบ
  • เวลาที่สภาพชีวิตเราเปลี่ยนควรเปลี่ยนประกัน เช่น ตอนมีลูกก็เพิ่มเงินประกันเพื่อให้คุ้มครองค่าใช้จ่ายของลูก, ลูกโตจนมีรายได้ของตัวเองก็ลดเงินประกันเพราะไม่ต้องดูแลลูกแล้ว, ตอนเกษียณที่ไม่มีรายได้แล้วก็เลือกประกันใหม่ที่เราจ่ายไหว
  • รายได้จากการทำงาน VS รายได้จากทรัพย์สิน
    • รายได้จากการทำงาน ถ้าทำไม่ได้แล้วก็จะขาดรายได้
    • รายได้จากทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่าบ้าน ถ้าทำงานไม่ได้แล้วก็ยังมีรายได้อยู่

สรุปข้อคิดจากหนังสือ

หนังสือเล่มนี้ประทับใจมากในเรื่องของการย่อยสิ่งที่ยาก ๆ ให้เป็นเรื่องง่าย และเล่าในแบบการ์ตูนเพื่อให้ผู้อ่านย่อยง่ายมากยิ่งขึ้น อ่านจบได้สั้น ๆ ในไม่กี่ชั่วโมงฮะ


Posted

in

by

Tags:

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *