Woratana Perth’s Year in Review 2014

ปี 2014 เป็นปีที่ชีวิตขึ้น ๆ ลง ๆ งง ๆ และท้าทายดี ได้ทำอะไรหลายอย่างมาก เลยขอสรุปสิ่งต่าง ๆ ที่ประทับใจในปีนี้มาเป็นหัวข้อ ๆ แล้วกัน

ทำ Startup Deehub

Deehub เปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม เป็น Startup ที่มีเหตุการณ์ทั้งดีและร้ายเกิดขึ้นตลอดทั้งปี และยังรันอยู่ได้เรื่อย ๆ แบบมีกำไรนิดหน่อยตั้งแต่เปิดเว็บไซต์ ซึ่งเป็นข้อดีของ Startup แบบ E-Commerce เพราะมีคนซื้อของทำให้เกิดเงินหมุนเวียนตลอด ไม่ใช่แนวที่ต้องรอ Funding จาก VC อย่างเดียว

สำหรับ Deehub ในปีนี้ถือว่าเรามากันไกล ต้องขอบคุณทีมงาน Deehub (ซื่อ เอิร์ธ ป๊อป ทัช และดีไซเนอร์หลายคนที่มาร่วมงานกับเรา) สำหรับความเหนื่อยยาก และโรงงานนรกหลายวัน

ในปี 2015 เราอยากพัฒนา Deehub ให้เติบโตกว่านี้อีก โดยเฉพาะในด้านออนไลน์ ช่วงนี้เลยศึกษาพวก Growth Hacking หาไอเดียใหม่ ๆ ทุกวัน

(เป็นที่มาของบลอค อธิบาย Marketing เวอร์ชั่นภาษาเด็กวิศวะ นั่นเอง)

แข่งขัน Static Showdown

ปีนี้ได้เข้าแข่งขัน Hackathon แรกในชีวิต ชื่อ Static Showdown ที่ให้จัดทีมทำเว็บไซต์อะไรก็ได้ โดยใช้พวกภาษา Static ทั้งหมด (HTML, CSS, Javascript) ภายใน 48 ชั่วโมง โดยแข่งกันทั่วโลก

เราเลยรวมทีมกับเพื่อนอีก 3 คน ทำเว็บไซต์ชื่อ Between Stories เป็นเว็บที่ให้คน Login Facebook แล้วเลือกเพื่อนหรือคนรัก 1 คน ระบบจะทำการสรุปมาให้ดูว่าเรากับคนนั้นมีอะไรเกี่ยวข้องกันบ้าง (วันเกิด, รูป, Checkin, โพส)

สรุปว่าได้รางวัลที่ 4 มา ได้รางวัลส่งมาถึงไทยเป็นเสื้อกับสติ๊กเกอร์ Static Showdown ที่ติดหลัง Macbook Air มาจนทุกวันนี้ ถือเป็นช่วงเวลา 48 ชั่วโมงที่คุ้มค่าที่สุดช่วงนึงในปีนี้เลย เพราะได้เรียนรู้อะไรเยอะมากจากการทำงานกับคนที่ไม่เคยทำด้วยกันมาก่อน

(ถ้าสนใจ อ่านบลอคเรื่อง Between Stories ได้เลย มีวีดิโอให้ดูด้วย โฮสที่แข่งจริงดับไปแล้ว TT)

เที่ยว Shirakawago & Okinawa

ปีนี้มีโอกาสได้ไปเหยียบสถานที่ในญี่ปุ่นที่เคยเห็นแต่ในรูปมาตลอด นั่นคือ ชิราคาวะโกะ หมู่บ้านทรงเก่าของญี่ปุ่นที่สวยมาก ๆ กับโอกินาวะ เค้าบอกว่าเป็นฮาวายของญี่ปุ่น แต่พอดีบ้านติดทะเลเลยไม่รู้ว่าจะไปทำไม = =

ชิราคาวะโกะ สวยมาก ๆ ยิ่งตอนปีใหม่หิมะคลุมหนามาก
นี่คือชิราคาวะโกะ สวยมาก ๆ ยิ่งตอนปีใหม่มีหิมะปกคลุมอีก ฟินสุด ๆ

ทริปโอกินาวะเป็นทริปที่ไปเที่ยวครั้งสุดท้ายกับอากง ก่อนท่านจะจากเราไปตอนกลางปีพอดี คิดถึงกับข้าวฝีมืออากงมาก TT

พัฒนา Designil

ปีนี้ถือเป็นปีที่ Designil เติบโตเยอะมาก มีการรีแบรนด์โดยเปลี่ยนโลโก้ใหม่ (ต้องขอขอบคุณพี่เบนที่ออกแบบโลโก้สวย ๆ ให้) และเปลี่ยนหน้าตาเว็บใหม่หมด ทราฟฟิกเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเกือบ 400% (จาก 350,000 วิว เป็น 1,250,000 วิว)

มีการเปิด Designil School สอนเว็บดีไซน์, ทำเว็บไซต์ด้วย WordPress, Front-end (Responsive, PSD to HTML/CSS) อย่างเป็นทางการ โดยเน้นเนื้อหาการสอนที่เรียนจบไปแล้วสามารถใช้ได้จริงเป็นหลัก ซึ่งได้ผลตอบรับค่อนข้างดี มีคนเรียนเต็มตลอด แต่ช่วงท้าย ๆ ปีงานเยอะเลยไม่ได้เปิดคอร์สอะไรเพิ่ม

ส่วนหนึ่งที่ Designil เติบโตมาได้ถึงวันนี้ต้องขอขอบคุณเว็บไซต์คู่แข่งแนวเดียวกันที่เกิดขึ้นมา เมื่อก่อนเว็บแนวนี้ในไทยมีอยู่เว็บเดียวเลยชิว ๆ พอตอนนี้มีคู่แข่งก็เลยต้องปรับปรุงให้สู้กับเค้าได้ ได้เรียนรู้ว่าการเป็นคู่แข่งเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ

ทำงานประจำที่ Salad / Neumerlin

ตั้งแต่เรียนจบมา ก็ได้ทำงานประจำที่บริษัท Agency ชื่อ Salad / Neumerlin (ตอนนี้เป็น Salad / Neumerlin / VIRT Digital แล้ว) มา 1 ปี 4 เดือน ก่อนจะตัดสินใจออกมาทำบริษัทตัวเองตอนปลายปี

การลาออกเป็นการตัดสินใจที่ยากมากที่สุดเรื่องหนึ่งของปีนี้ เพราะเป็นบริษัทที่ดีมาก เพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่บริษัทก็น่ารัก เฮฮา ตอนเย็น ๆ มีของกินตลอด (เอ๊ะ ทำไมโฟกัสเรื่องกิน) พอออกมาทำเองแล้วอยู่กับคนน้อย ๆ บางครั้งก็คิดถึงบรรยากาศเก่า ๆ เหมือนกัน บางคนบอกว่าทำงานบริษัทแรกเจอบริษัทไม่ดีบ้าง หัวหน้าไม่ดีบ้าง สังคมไม่ดีบ้าง แต่ของเรานี่ดีหมดเลย

เปิดบริษัท Midnize Studio

Midnize Studio เกิดขึ้นมาจาก 3 คนที่ถนัดคนละด้านกันหมด (Design, Front-end, Back-end) แน่นอนว่าทำได้ทุกอย่างยกเว้นขายงาน (ไม่มี Sales)

ปีนี้เราได้จับมือกับบริษัท Digital Agency ชื่อดัง Rabbit’s Tale ซึ่งเป็นบริษัทที่ผมเคยไปฝึกงานมาตอนอยู่ปี 2 โดยตอนนั้นยังอยู่กันแบบเล็ก ๆ 7-8 คน แต่ตอนนี้เติบโตมาเป็นบริษัทยิ่งใหญ่พนักงานกว่า 30 คน (ออฟฟิสสวยด้วย) ทำให้ Midnize Studio มีงานเข้ามาตลอดเวลา จนบางช่วงงานล้นมืออยากแยกร่างไปทำให้ด้วยซ้ำ

ต้องขอขอบคุณทีมงาน Midnize Studio (นัท Designer สุดสวย, อาร์ม Back-end Programmer สุดติส) ที่สู้ชีวิตกันมาจนถึงตอนนี้ บางทีอดหลับอดนอนปั่นงาน แก้บั๊ก (โดยเฉพาะวันก่อน Launch) ก็ผ่านกันมาได้ มาดูกันต่อว่าปีหน้าจะเป็นยังไง

WordPress Meetup

ปีนี้มีการจัด WordPress Meetup จริง ๆ จัง ๆ ซึ่งนำโดยคุณชินอิจิ ผู้เชี่ยวชาญ WordPress จากญี่ปุ่น และ Hubba สปอนเซอร์สถานที่ฟรีทุกงาน ก็มีโอกาสได้ไปช่วยเค้าจัดบ้าง ช่วยเป็นคนแปลให้บ้าง ได้ประสบการณ์ดี

มีครั้งนึงที่คนญี่ปุ่นมาพูด (คุณมิยะ) เค้าก็พูดเป็นภาษาอังกฤษนี่แหละ แต่บางทีก็พูดญี่ปุ่นกับคุณชินอิจิ พอดีว่าเราก็เผอิญฟังญี่ปุ่นได้นิดหน่อย เวลาฟังญี่ปุ่นก็พยายามแปล ฟังอังกฤษก็พยายามแปล วันนั้นเลยสมองล้ามาก ๆ T_T (มีช็อตนึงเผลอไปช่วยเค้าแปลญี่ปุ่นด้วย = =)

ได้เรียนรู้เรื่อง Community ของ WordPress ขึ้นมาอีกเยอะ ใช้ทำมาหากินมาหลายปีเพิ่งจะได้เจอคนแปล WordPress เป็นภาษาไทยครั้งแรก ได้รู้ว่ากว่าธีม ๆ นึง หรือปลั๊กอินตัวนึงจะไปอยู่ใน WordPress.org มันต้องผ่านอะไรบ้าง และได้รู้จักคนใหม่ ๆ จากใน Community นี้เยอะมาก

ตอนนี้ WordPress ถึงจะมีคนใช้เยอะมาก แต่ Community ในไทยยังแข็งแรงน้อยกว่า Joomla ที่เค้าจัด Joomla Day ได้ทุกปี ในปี 2015 ก็อยากจะผลักดันให้จัด WordCamp Bangkok ได้บ้าง

เป็นวิทยากรมหาลัยครั้งแรก

ช่วงปลายปีมีน้องนักศึกษาคณะไอที มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) เชิญไปพูดเรื่อง Front-end Development ในวิชาสัมมนาครับ ได้ลองเป็นวิทยากรในมหาวิทยาลัยครั้งแรก นักศึกษานั่งฟังเยอะมาก ตื่นเต้นสุด ๆ จำได้ว่าเตรียมตัวอยู่หลายวันเหมือนกัน

ด้านเนื้อหาที่ไปพูดไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เพราะตอนแรกเราไม่รู้ว่าเค้าต้องการให้ไปแนะนำน้อง ๆ ก่อนไปฝึกงาน เราก็ใส่เนื้อหา Front-end ไปเต็มที่มาก อยากทำอะไรต้องใช้เทคโนโลยีตัวไหนอะไรแบบนี้ ผิดจุดเต็ม ๆ

แต่ก็ดีที่สุดท้ายคุยตกลงเวลากับน้องที่เชิญไปผิด พอพูดสไลด์เสร็จเลยเหลือเวลาว่าง ๆ อีก 1 ชั่วโมงเต็ม ก็กลายเป็น Q&A ถามตอบเรื่องการฝึกงาน บริษัทแบบไหนน่าทำ บริษัทไทยกับฝรั่งต่างกันยังไง

สุดท้ายอาจารย์ที่คณะก็มาบอกว่าเนื้อหาช่วงหลัง (Q&A) ดีมาก ตั้งแต่เชิญวิทยากรท่านอื่น ๆ มาทั้งเทอมมี Session ของเรา (เป็นวิทยากรคนสุดท้าย) นี่แหละที่ตรงประเด็นที่เค้าต้องการมากสุด ก็ดีครับ Happy Ending… แต่ถ้าใครจะให้ไปพูดที่ไหนคราวหน้ารบกวนบอกก่อนนิดนึงว่าคนฟังต้องการอะไรนะครับ

สรุปปี 2014

ปี 2014 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงเยอะ ได้ทำอะไรใหม่ ๆ มากมาย และได้เจอชีวิตคนทำงานที่แตกต่างจากชีวิตมหาลัยแบบเต็ม ๆในปี 2015 จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อปัย ยัย ยัย ยัย


Posted

in

by

Tags:

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *